วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561

ไมเกรน (Migraines)


ไมเกรนเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงชนิดหนึ่ง จะรู้สึกปวดตุบ ๆ รุนแรง โดยมักปวดบริเวณศีรษะข้างเดียว หรือปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดสองข้าง ในขณะที่ปวดก็มักมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย และอาจมีความรู้สึกไวต่อเสียงและแสงสว่างมากกว่าปกติ
อาการของไมเกรน
-ไมเกรน มักจะเกิดในวัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ระยะแรก โดยจะแบ่งอาการเป็น 4 ขั้น ได้แก่ ระยะอาการบอกเหตุ (Prodrome) ระยะอาการเตือน (Aura) ระยะปวดศีรษะ (Headache) และระยะหลังจากปวดศีรษะ(Postdrome) ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการในทุกขั้นก็ได้

ระยะอาการบอกเหตุ (Prodrome) ในช่วงหนึ่งหรือสองวันแรกก่อนจะเป็นไมเกรน ผู้ป่วยอาจพบว่ามีอาการบอกเหตุหรือสัญญาณเตือนของการเป็นไมเกรน ดังนี้
-การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ตั้งแต่ภาวะซึมเศร้า (depression) ไปจนถึงภาวะเคลิ้มสุข (euphoria)
-ความอยากอาหารบางอย่างเป็นพิเศษ
-มีอาการปวดตึงคอ
-กระหายน้ำและปัสสาวะบ่อยขึ้น
-หาวบ่อย
-ท้องผูก
-ระยะอาการเตือน (Aura) คือ อาการที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนหรือพร้อมกับการปวดไมเกรน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะเป็นไมเกรนแบบไม่มีอาการเตือน ซึ่งการเตือนนี้มักค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และอาจเกิดอาการต่อเนื่องเป็นชั่วโมง อาการเตือน สามารถเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น มองเห็นแสงกระพริบ ๆ หรือสายตาพร่ามัว มองเห็นรูปภาพเป็นรูปทรงต่าง ๆ ผิดขนาด แสงซิกแซก เห็นจุดแสงวาบ มองเห็นเป็นเส้นคลื่น

นอกจากนั้น อาการนำ อาจเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะที่รับความรู้สึก (ประสาทสัมผัส) การเคลื่อนไหว หรือการพูด พูดลำบาก กล้ามเนื้อจะรู้สึกคล้าย ๆ จะอ่อนแรง หรืออาจรู้สึกเหมือนมีใครกำลังสัมผัสตัวอยู่ รู้สึกชาที่มือหรือเท้า ซึ่งอาการเหล่านี้ จะค่อย ๆ เริ่มเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที และจะยังคงมีความรู้สึกนี้เป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงก็ได้หากมีหลายอาการ

ระยะที่เกิดอาการปวดศีรษะ (Headache) ในขณะที่ปวดไมเกรน ผู้ป่วยอาจพบว่ามีอาการ ดังนี้
-มีอาการปวดศีรษะข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง
-มีอาการปวดแบบตุบ ๆ
-แสงจ้า เสียงดัง และกลิ่นฉุนจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น
-มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
-ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด
-มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเป็นลม

ระยะที่หายจากการปวดศีรษะ (Postdrome) เป็นระยะสุดท้ายของไมเกรน ซึ่งจะเกิดหลังจากการเกิดไมเกรนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ป่วยอาจพบว่ามีอาการ ดังนี้
-มีอาการสับสบ มึนงง
-มีอารมณ์หงุดหงิด
-เวียนศีรษะ
-อ่อนล้า อ่อนแรง
-มีความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง

หากอาการปวดไมเกรนมีความรุนแรงมาก โดยที่ไม่สามารถจัดการหรือควบคุมอาการได้ด้วยยาแก้ปวด ให้จดจำหรือบันทึกอาการของไมเกรนที่เกิดขึ้้นและวิธีปกติที่ใช้รักษา แล้วไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาต่อไป โดยหากพบว่ามีอาการหรือสัญญาณของไมเกรนดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์
-ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน
-ปวดศีรษะพร้อมกับมีไข้ ปวดเมื่อยคอ สับสนมึนงง มีอาการชัก มองเห็นภาพซ้อน หรืออ่อนแรง
-มีความรู้สึกชา หรือพูดติดขัดอย่างชัดเจน
-มีอาการปวดศีรษะรุนแรงมาก หลังจากได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ
-มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ที่เป็นมากขึ้นเวลาไอ เวลาออกแรงมาก หรือเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถเร็วเกินไป
-มีอาการปวดศีรษะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปี

สาเหตุของไมเกรน
-ไมเกรนเป็นผลจากความผิดปกติชั่วคราวในการทำงานของสมองที่มีผลกระทบต่อเส้นประสาท สารเคมี และหลอดเลือดในสมอง แต่สาเหตุที่แท้จริงของไมเกรนนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยดังนี้
-สิ่งกระตุ้น ที่ทำให้เกิดไมเกรน ได้แก่ ฮอร์โมน อารมณ์ ร่างกาย การรับประทานอาหาร สิ่งแวดล้อม และการใช้ยา เป็นต้น โดยสิ่งกระตุ้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลในแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนบ่อย ๆ จึงควรสังเกตตนเองและคอยจดบันทึกเพื่อเป็นข้อมูลในการไปปรึกษาแพทย์

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
-ในผู้ป่วยเพศหญิง อาจเป็นไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือน (Menstrual Migraine) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น เอสโทรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) โดยไมเกรนชนิดนี้ มักเกิดในช่วง 2 วันก่อนมีประจำเดือน ไปจนถึงวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน ในบางรายพบว่าเป็นไมเกรนแค่ช่วงเวลานี้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยเพศหญิงบางราย ก็จะพบว่าเป็นไมเกรนในช่วงเวลาอื่่นที่ไม่ได้เป็นประจำเดือนได้เช่นกัน และในผู้ป่วยเพศหญิงหลาย ๆ ท่าน ก็พบว่า อาการไมเกรนที่เกิดขึ้นนั้นมาจากหลังวัยหมดประจำเดือน (Menopause) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อันส่งผลต่ออารมณ์และร่างกาย และสามารถกระตุ้นไมเกรนได้ หรืออาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้ในบางราย ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้

ตัวกระตุ้นที่เกี่ยวกับอารมณ์

-ความเครียด ภาวะตึงเครียด
-ความวิตกกังวล
-อาการตกใจ หรือช็อก
-ภาวะซึมเศร้า
-ความตื่นเต้น

ตัวกระตุ้นทางกายภาพ
-ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
-นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
-ทำงานเป็นกะ ไม่เป็นเวลาปกติ
-มีความตึงที่คอหรือไหล่
-อาการอ่อนเพลียจากการเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นเวลานาน (Jet Lag)
-ภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย (Hypoglycaemia)
-ออกกำลังกายที่ต้องใช้พละกำลังมาก

ตัวกระตุ้นเกี่ยวกับอาหาร
-รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
-ภาวะขาดน้ำ
-ดื่มแอลกอฮอล์
-อาหารที่มีสารไทรามีน (Tyramine) ซึ่งเป็นส่วนประกอบธรรมชาติของอาหาร เช่น เนยแข็ง
-เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา หรือกาแฟ
-อาหารบางประเภท เช่น ช็อกโกแลต ผลไม้ตระกูลส้ม และชีส

ตัวกระตุ้นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
-แสงสว่างจ้า
-แสงจากจอโทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์
-การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ โดยเฉพาะในห้องแบบปิด
-เสียงดัง
-สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ความชื้น หรืออุณหภูมิที่เย็นจัด
-ได้รับกลิ่นที่รุนแรง

การใช้ยารักษาโรค
-การใช้ยานอนหลับบางชนิด
-การใช้ยาคุมกำเนิด
-การใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) ในสตรีวัยหมดประจำเดือน

ภาวะแทรกซ้อนของไมเกรน
-โอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนนั้นมาจากการรักษาและควบคุมอาการปวดไมเกรน ซึ่งอาจพบว่าทำให้มีปัญหา ดังต่อไปนี้
ปัญหาเกี่ยวกับท้อง (Abdominal problems) การใช้ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในการบรรเทาอาการปวดไมเกรน เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง เลือดออกในกระเพาะอาหาร เกิดแผล หรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะหากใช้ยาในปริมาณมากหรือใช้เป็นเวลานาน
อาการปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป (Medication-overuse Headaches) เกิดขึ้นหากมีการใช้ยาแก้ปวดเกือบทุกชนิดในประมาณมากเกินไป มากกว่า 10 วัน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน
กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin Syndrome) ภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้จะพบได้น้อยมาก แต่มีความรุนแรง เป็นอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งจะเกิดเมื่อร่างกายมีสารสื่อประสาทที่ชื่อเซโรโทนินมากเกินไป มักเกิดเมื่อใช้ยากลุ่มทริปแทนร่วมกับยารักษาอาการซึมเศร้า

นอกจากนั้น ในบางรายอาจพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนจากไมเกรน ดังนี้
-ไมเกรนเรื้อรัง (Chronic Migraine) หากเป็นไมเกรนนาน 15 วัน หรือมากกว่าต่อเดือน ติดต่อกัน 3 เดือน
-ไมเกรนชนิดที่รุนแรงมาก (Status Migrainosus) ผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดนี้เป็นไมเกรนอย่างรุนแรงติดต่อกันนานมากกว่า 3 วัน
-อาการเตือน (Aura) ของไมเกรนเกิดนานกว่าปกติแต่ไม่มีภาวะสมองขาดเลือด (Persistent Aura without Infarction) เมื่อผู้ป่วยหายจากไมเกรนแล้วแต่อาการเตือนต่าง ๆ ยังคงอยู่ อาจเกิดนานมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ โดยอาการอาจคล้ายกับอาการเลือดออกในสมอง แต่ไม่มีความผิดปกติในสมองแต่อย่างใด
-ไมเกรนที่เกิดภาวะสมองขาดเลือด (Migrainous Infarction) การเกิดอาการเตือนที่นานกว่าหนึ่งชั่วโมง แล้วทำให้ขาดเลือดหล่อเลี้ยงในสมอง กรณีนี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างละเอียด

การป้องกันไมเกรน
-วิธีในการป้องกันไมเกรนที่ดีที่สุด คือ การรู้และเข้าใจว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดไมเกรนและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น การจดบันทึกในแต่ละวันเมื่อเกิดอาการ จะสามารถช่วยให้จำแนกตัวกระตุ้นที่อาจเป็นสาเหตุ และช่วยให้สามารถควบคุมการใช้ยารักษาได้อย่างตรงจุด โดยการบันทึกสิ่งเหล่านี้ ได้แก่
-วันและเวลาที่เกิดอาการขึ้น
-สัญญาณหรืออาการเตือนต่าง ๆ ก่อนเป็นไมเกรน
-อาการที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการที่มีอาการเตือน (Aura) หรือไม่มีอาการเตือนร่วม
-ยารักษาโรคที่ใช้
-อาการหยุดในวันและเวลาใด
-นอกจากนั้น หากผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ แล้ว แต่ยังคงเกิดอาการไมเกรนอยู่ สามารถใช้การรักษาด้วยยาเพื่อการป้องกันไมเกรนได้ โดยการใช้ยาต้องได้รับใบสั่งยาและคำแนะนำจากแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงและเป็นบ่อย

ผู้ป่วยไมเกรนส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายใดๆ ทั้งสิ้นยกเว้นในรายที่เป็นไมเกรนชนิดรุนแรงที่มีการอ่อนแรงของแขนขา บางครั้งอาจมีอาการหยุดหายใจ เนื่องเพราะกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง ก็อาจต้องรีบช่วยผายปอด แล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที  ผู้ป่วยมักจะฟื้นคืนสู่สภาวะปกติได้ภายในไม่กี่วัน

-การดำเนินโรค  โรคนี้มักมีอาการอยู่นาน 4-72 ชั่วโมงแล้วสามารถทุเลาได้เอง แต่มักจะเป็นๆ หายๆ เป็นครั้งคราวเมื่อมีเหตุกำเริบหรือสิ่งกระตุ้น ผู้ป่วยส่วนหนึ่ง อาจหายขาดเมื่อพ้นอายุ 55 ปี ไปแล้ว แต่ส่วนหนึ่งอาจมีอาการกำเริบได้เรื่อยๆ ตลอดชีวิต
-ความชุก  โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของคนทั่วไป พบได้ในทุกวัย พบมากในช่วงอายุ 10-30 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย



ขอบคุณ :  https://www.pobpad.com/ไมเกรน


เป็นไมเกรนไม่อยากหาหมอ Herbraga 2 แคก่อนนอน




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น