วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

ไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่มาพร้อมความอ้วน


โลกยุคดิจิตอลไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะแค่เรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่การเกิด “โรค” ต่างๆก็ดูเหมือนจะมีวิวัฒนาการไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย
โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอยู่ อย่างเช่น “ไขมันพอกตับ” ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่
ข้อมูลทางการแพทย์ ระบุว่า 50.1% ของผู้ป่วยเบาหวาน และ 57.7% ของผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำมีภาวะไขมันพอกตับสูง

นอกจากนี้ยังพบว่า 25% ของผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป มีภาวะของไขมันพอกตับเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในเด็ก มีการศึกษาในต่างประเทศระบุว่า เด็กวัยรุ่นที่อ้วนมีภาวะโรคไขมันพอกตับสูงกว่าวัยรุ่นที่ไม่อ้วนถึง 15-20 เท่า ล่าสุดพบเด็กอ้วนป่วยด้วยโรคตับแข็งตั้งแต่อายุ 8 ขวบ
บางคนคิดว่าไขมันพอกตับคือโรคที่มีไขมันไปพอกอยู่บนตับ แต่จริงๆ แล้ว ไขมันพอกตับ หรือ Non-Alcoholic

Fatty Liver Disease (NAFLD) เป็นโรคที่เกิดจากการสังเคราะห์ไขมันในตับผิดปกติ ทำให้ไขมันโดยเฉพาะ

ไตรกลีเซอไรด์ที่แทรกอยู่ในเซลล์ตับมีน้ำหนักเกิน 5% ของตับ ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ เกิดภาวะตับอักเสบและอาจพัฒนาเป็นตับแข็งได้ในที่สุด

ความรุนแรงของโรคไขมันพอกตับแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นระยะมีไขมันก่อตัวอยู่ในเนื้อตับ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลใดๆ

ระยะที่สอง เป็นระยะที่เริ่มมีอาการอักเสบของตับ ในระยะนี้หากไม่ควบคุมดูแลให้ดี และปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อยๆ เกินกว่า 6 เดือนอาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
ระยะที่สาม การอักเสบรุนแรง ก่อให้เกิดพังผืดในตับ เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลง และ ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ตับไม่อาจทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป ตับแข็งและอาจกลายเป็นมะเร็งตับ
ที่น่าเป็นห่วงคือ ในระยะแรกๆของโรค ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ แม้กระทั่งโรคพัฒนาเป็นตับอักเสบหรือตับแข็งแล้ว บางราย ก็ยังไม่มีอาการ ผู้ป่วยจึงมักจะไม่รู้ตัวหรือไม่ใส่ใจในการรักษา ส่วนใหญ่แล้วโรคนี้มักตรวจพบโดยบังเอิญ จากการตรวจสุขภาพประจำปีหรือตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อรักษาโรคอื่น
ผู้ป่วยไขมันพอกตับกว่า 50% ไม่แสดงอาการโดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นไขมันพอกตับระยะแรก แต่บางรายก็อาจมี อาการบ้าง แต่เป็นอาการทั่วๆไปไม่จำเพาะ เช่น รู้สึกอึดอัดหรือปวดแน่นบริเวณชายโครงด้านขวา เบื่ออาหาร รู้สึก ท้องอืดท้องเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย ท้องผูกหรือท้องเสียเป็นประจำ อ่อนเพลียง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง ในรายที่อาการเริ่มรุนแรงอาจมีอาการดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน ตรวจพบระดับคอเลสเทอรอลและไตรกลีเซอไรด์ใน เลือดสูง ค่าเอนไซม์ตับ sgpt, sgot สูงขึ้น ซึ่งแสดงว่าตับมีการอักเสบ โรคนี้อันตรายมากน้อยแค่ไหน อย่างแรกคือ ถ้ามีภาวะของไขมันพอกตับ ตับก็จะทำงานไม่ปกติ หรือถึงขั้นผิดปกติ ทั้งนี้ เพราะตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในร่างกาย
ตับทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น กักเก็บสารอาหาร สังเคราะห์โปรตีน คอเลสเทอรอลและวิตามิน ผลิตน้ำดีเพื่อย่อยอาหารประเภทไขมัน ควบคุมการสันดาปของฮอร์โมน ผลิตสารที่นำเกล็ดเลือดไปห้ามเลือดเมื่อผนังหลอดเลือดได้รับบาดเจ็บและกำจัดสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย ฯลฯ แต่เมื่อมีเซลล์ไขมันจำนวนมากแทรกอยู่ในเซลล์ตับจะทำให้โครงสร้างภายในของตับเปลี่ยนแปลงไปทำให้ตับทำงานผิดปกติและส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆในร่างกาย

ภาวะไขมันพอกตับส่วนใหญ่เป็นโรคที่มาพร้อมกับโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆอาจเป็นโรคที่เป็นอยู่เดิม หรือ อาการของโรคเดิมกำเริบ เนื่องจากภาวะไขมันพอกตับ เช่น โรคเบาหวาน ตับขาดสารอาหาร ตับอักเสบจากไวรัส ฯลฯ โดยเฉพาะโรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดัน โลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ เกาต์ นิ่วในถุงน้ำดี ฯลฯ 
มีการวิจัยพบว่าภาวะของไขมันพอกตับเป็นปัจจัยที่ไปเพิ่มความรุนแรงของโรคเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุ สำคัญที่ทำให้ผลการรักษาของโรคเรื้อรังเหล่านี้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็จะทำให้สมรรถภาพ

การทำงานของตับลดลงเรื่อยๆจนไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาดังเดิมได้ และอาจกลายเป็นตับแข็งในที่สุด
การรักษาภาวะไขมันพอกตับที่ง่ายที่สุดคือ การลดน้ำหนักตัว โดยเฉพาะในกรณีที่มีภาวะอ้วนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ การลดน้ำหนัก จะทำให้ภาวะดื้ออินซูลินและพยาธิสภาพของเนื้อตับดีขึ้น ทั้งนี้ เพราะคนอ้วนที่เป็นเบาหวาน 
ไขมันสูง มีโอกาสเกิดไขมันพอกตับได้ถึง 90%
การลดน้ำหนักอาจทำได้โดย การควบคุมอาหาร ลดการรับประทานเนื้อแดงจากสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ควร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลฟรักโทสในปริมาณสูง งดดื่มน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ปรุงแต่ง บริโภคอาหาร คาร์โบไฮเดรตชนิดที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ผลิตภัณฑ์จากนม ผัก ออกกำลังกาย ในรายที่มีอาการรุนแรงมากแพทย์
อาจแนะนำให้กินยา รักษาตามอาการของโรคที่มีการแทรกซ้อนจากไขมันพอกตับ เช่น ให้ยาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
แม้โรคไขมันพอกตับจะไม่ใช่โรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง หรือภาวะโรคอื่นๆที่มีอาการดำเนินของโรคอย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่อย่าลืมว่า “ตับ” เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ที่ช่วยกรองสารพิษและทำหน้าที่สำคัญๆอีกมากในร่างกาย หากไม่ดูแลรักษาอวัยวะนี้ให้ดีแล้ว โอกาสที่โรคอื่นๆจะถามหา ก็เป็นไปได้ไม่ยาก.


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น