วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)


โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังอีกโรคหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย พบโรคนี้ได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทราบเพียงว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและปัจจัยกระตุ้นภายนอก ทำให้มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วผิดปกติ โรคสะเก็ดเงินพบได้ทั้งเพศชายและหญิง พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ปัจจุบัน โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะทางผิวหนัง แต่อาจพบมีสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน และกลุ่ม metabolic syndrome ได้แก่ โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน เป็นต้น

ลักษณะทางคลินิก
-โรคสะเก็ดเงินจำแนกเป็นชนิดต่าง ๆ ตามลักษณะทางคลินิกดังต่อไปนี้

ชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis)
-เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด รอยโรคเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัด ขุยหนาสีขาวหรือสีเงินจึงได้ชื่อว่า "โรคสะเก็ดเงิน" พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา โดยเฉพาะบริเวณ ข้อศอก และหัวเข่าซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสี

ชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate psoriasis)
-รอยโรคเป็นตุ่มแดงเล็กคล้ายหยดน้ำขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีขุย ผู้ป่วยมักมีอายุน้อยกว่า 30 ปี และอาจมีประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน

ชนิดตุ่มหนอง (Pustular psoriasis)
-รอยโรคเป็นตุ่มหนองกระจายบนผิวหนังที่มีการอักเสบแดง ในรายที่เป็นมากอาจมีไข้ร่วมด้วย

ชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic psoriasis)

-เป็นสะเก็ดเงินชนิดรุนแรง ผิวหนังมีลักษณะแดงและมีขุยลอกเกือบทั่วพื้นที่ผิวทั้งหมดของร่างกาย อาจเกิดจากการขาดยาหรือมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น

สะเก็ดเงินบริเวณซอกพับ (Inverse psoriasis)
-เป็นโรคสะเก็ดเงินที่มีรอยโรคในบริเวณซอกพับของร่างกาย ได้แก่ รักแร้ ขาหนีบ และใต้ราวนม เป็นต้น ลักษณะเป็นผื่นแดงเรื้อรังและมักไม่ค่อยมีขุย

สะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis)
-เป็นโรคสะเก็ดเงินบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลักษณะเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน ขุยลอก ผื่นอาจพบลามมาบริเวณหลังมือ หลังเท้าได้

เล็บสะเก็ดเงิน (Psoriatic nails)
-ความผิดปกติของเล็บในผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ที่พบบ่อยได้แก่ เล็บเป็นหลุม, เล็บร่อน, เล็บหนาตัวขึ้นและเล็บผิดรูป

ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)
ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอาจพบมีความผิดปกติการอักเสบของข้อร่วมด้วย ซึ่งพบได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก อาจเป็นข้อเดียว หรือหลายข้อ ส่วนใหญ่การอักเสบของมือจะเกิดที่ข้อนิ้วมือ ซึ่งหากเป็นเรื้อรังและทำให้เกิดการผิดรูปได้

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน 
แนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ขึ้นกับความรุนแรงของโรคดังนี้
• สะเก็ดเงินความรุนแรงน้อย หมายถึง ผื่นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย (ผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือเท่ากับพื้นที่ประมาณ 1%) ให้การรักษาโดยใช้ยาทาเป็นอันดับแรก
• สะเก็ดเงินความรุนแรงมาก หมายถึง ผื่นมากกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย พิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยารับประทาน หรือฉายแสงอาทิตย์เทียม หรืออาจใช้ร่วมกันระหว่างยารับประทานและฉายแสงอาทิตย์เทียม

ยาทาภายนอก 
ยาทารักษาโรคสะเก็ดเงิน มีหลายชนิด ได้แก่
1. ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ (topical corticosteroids) ส่วนใหญ่นิยมใช้ เนื่องจากเป็นครีมขาวใช้ง่าย และตอบสนองต่อการรักษาดี แต่หากใช้ยาที่แรงเกินไปร่วมกับทาเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดผิวหนังบาง และเกิดรอยแตกของผิวหนังได้ รวมถึงอาจเกิดการดื้อยา และอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้
2. น้ำมันดิน (tar) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ ประสิทธิภาพดี แต่น้ำมันดิน มีสีน้ำตาล กลิ่นเหม็น เวลาทาอาจทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า อาจพบผลข้างเคียงคือเกิดรูขุมขนอักเสบ หรือระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ทายาได้
3. แอนทราลิน (anthralin, dithranol) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ แต่อาจทำให้ระคายเคืองผิวหนัง รวมถึงผิวหนังบริเวณที่ทายามีสีคล้ำขึ้นได้
4. อนุพันธ์วิตามินดี (calipotriol) มีฤทธิ์ทำให้การแบ่งตัวของเซลผิวหนังกลับสู่ปกติ ข้อเสียของยานี้คือหากทาบริเวณผิวหนังที่บาง อาจมีการระคายเคืองได้ และยามีราคาแพง ปัจจุบันมียาทาที่ผสมระหว่างอนุพันธ์วิตามินดีและยาทาคอติโคสเตียรอยด์เข้า ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียง
5. ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor (tacrolimus, pimecrolimus) เป็นยากลุ่มใหม่ แพทย์บางรายนำมาใช้ในการรักษาผื่นโรคสะเก็ดเงินบริเวณหน้า หรือตามซอกพับเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาทาคอติโคสเตียรอยด์ แต่ยังไม่แพร่หลายเนื่องจากยามีราคาแพง

ยารับประทาน
พิจารณาให้กรณีสะเก็ดเงินรุนแรงปานกลางถึงมาก ที่ใช้บ่อยในประเทศไทยมี 3 ชนิด
1. เมทโทเทรกเสท (methotrexate)
เป็นยาที่ได้ผลดีกับสะเก็ดเงินเกือบทุกชนิด ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ รวมถึงมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผลข้างเคียงของเมทโทเทรกเสทที่อาจพบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน หากรับประทานยาติดต่อกันนานหลายปีจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งได้ แพทย์จึงต้องทำการตรวจเลือดผู้ป่วยเพื่อดูการทำงานของเม็ดเลือด ตับละไตเป็นระยะ
2. อาซิเทรติน (acitretin)
เป็นยารับประทานในกลุ่ม vitamin A ได้ผลดีมากสำหรับสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง ผลข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ ปากแห้งลอก ผิวแห้ง มือเท้าตึงลอก รอบเล็บอักเสบ ระดับไขมันในเลือดสูง และอาจทำให้เกิดตับอักเสบได้ ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยานี้คือ ห้ามตั้งครรภ์เนื่องจากทารกในครรภ์อาจพิการได้ โดยต้องคุมกำเนิดขณะรับประทานและต้องคุมกำเนิดต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปีหลังหยุดยา
3. ไซโคลสปอริน (cyclosporin)
มีฤทธิ์ลดการอักเสบและยับยั้งภูมิคุ้มกันของร่างกาย ประสิทธิภาพในการรักษาดีใช้กรณีสะเก็ดเงินรุนแรงปานกลางถึงมาก ผลข้างเคียง ได้แก่ ขนยาว เหงือกบวม เป็นพิษต่อไต และความดันโลหิตสูง ดังนั้นจึงต้องเจาะเลือดติดตามการทำงานของไตและวัดความดันโลหิตเป็นระยะ

การฉายแสงอาทิตย์เทียม (Phototherapy)
-เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีในการรักษาสะเก็ดเงิน โดยจะใช้รังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งปัจจุบันที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ รังสีอัลตราไวโอเลต A และรังสีอัลตราไวโอเลต B ซึ่งผู้ป่วยต้องมารับการรักษา 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยจะให้ผลดีประมาณ 70 - 80% ขึ้นไป พบผลข้างเคียงน้อย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันและแดงบริเวณผิวหนังที่ฉายแสงหลังทำการรักษา ข้อดี คือ ส่วนใหญ่การกลับเป็นซ้ำของโรคจะน้อยกว่าการรักษาโดยใช้ยาทาหรือยารับประทาน

ยาฉีดกลุ่มชีวภาพ (Biological agents)
-เป็นยาใหม่ที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อยู่ในรูปยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำหรือเข้าใต้ชั้นไขมัน ซึ่งยาบางชนิดฉีดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง บางชนิดอาจฉีดห่างกันทุก 3 เดือน ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากยาในกลุ่มนี้เป็นยาใหม่ จึงต้องติดตามผลข้างเคียงระยะยาว

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยและญาติ
-นอกจากการรักษาข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น การให้ความรู้ผู้ป่วยและญาติมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การเข้าใจความจริงที่ว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ ผู้ป่วยจะไม่ถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง ญาติและคนใกล้ชิดควรเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย และเนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยควรดูแลปฏิบัติตนให้ถูกต้องจะช่วยควบคุมโรคให้สงบได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นซึ่งได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนน้อยและการดื่มสุรา รวมถึงยาบางชนิดสามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาทางจิตเวช (lithium) เป็นต้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงหรือการติดเชื้อ เป็นหวัด ในผู้ป่วยบางรายอาจทำให้ผื่นเห่อขึ้นได้ ผู้ป่วยควรติดตามการรักษาต่อเนื่อง ไม่ควรย้ายเปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังอาจต้องใช้เวลานานในการรักษา



ขอบคุณ : http://www.dst.or.th/html/index.php?op=article-detail&id=174&cid=12#.WjAsnlVl_IV


อาหารเสริมของผู้มีภาวะ สะเก็ดเงิน



ID : crazykornoni

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น