คงมีหลายคนที่รูปร่างสวยเพรียว หรือผอม แต่เมื่อตรวจร่างกายพบว่ามีไขมันในเลือดสูง ทำให้สงสัยว่า ตรวจผิดหรือเปล่า? มันไม่น่าเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนอยากเรียนว่า คนที่รูปร่างสวยเพียว หรือผอม ก็มีไขมันในเลือดสูงได้... ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น??
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านว่า การที่เราบอกว่าคนๆหนึ่งมีรูปร่างสวยเพรียว หรือผอมนั้น เรามองจากรูปลักษณ์ภายนอกและประเมินด้วยสายตาว่าคนๆนั้น มีไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังในส่วนต่างๆของร่างกายไม่มาก แต่ไขมันในเลือดเป็นส่วนของไขมันที่ละลายอยู่ในกระแสเลือด เป็นคนละส่วนกับไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังตามส่วนต่างๆของร่างกาย ฉะนั้นคนอ้วนจึงไม่จำเป็นต้องมีไขมันในเลือดสูงเสมอไป และคนผอมก็อาจจะมีไขมันในเลือดสูงได้
ไขมันในร่างกายประกอบด้วย ไขมันในหลอดเลือด ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง
ไขมันเหล่านี้มาจากไหน? ไขมันในร่างกายมาจาก 2 แหล่งด้วยกัน คือ จากอาหารที่บริโภค และจากการที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง ไขมันจะถูกนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน นำไปสร้างฮอร์โมน นำไปสร้างน้ำดีเพื่อช่วยในการดูดซึมอาหารไขมัน และ ใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างเนื้อเยื่อของเซลล์
ไขมันในเลือดอยู่ในรูป "ไลโปโปรตีน" คือ เป็นสารประกอบของไขมันและโปรตีน ซึ่งไลโปโปรตีนที่อยู่ในเลือด สามารถผสมเข้ากันกับส่วนประกอบต่างๆของเลือดได้ ส่วนของไขมันไลโปโปรตีนมีทางที่เป็น "โคเลสเตอรอล" "ไตรกลีเซอไรด์" "ฟอสโฟลิปิด" และ "กรดไขมันอิสระ" ไขมันแต่ละชนิดมีหน้าที่ต่างๆกัน คือโคเลสเตอรอล เป็นไขมันที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ และได้รับจากอาหารที่รับประทาน ไขมันชนิดนี้เป็นสารตั้งต้นที่นำไปสร้างน้ำดี เพื่อช่วยในการดูดซึมอาหารไขมัน และใช้สร้างฮอร์โมนบางชนิด ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้และได้จากอาหารที่รับประทานเข้าไปโดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งหรืออาหารที่มีรสหวานไขมันชนิดนี้เป็นแหล่งพลังงานที่ร่างกายสะสมไว้ใช้ ฟอสโพลิปิด เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ ส่วนกรดไขมันอิสระ เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย
ไลโปโปรตีน แบ่งตามความหนาแน่นของโมเลกุลได้เป็นหลายชนิด แต่ที่เรารู้จักกันดีคือ
- แอลดีแอล : เป็น ไลโปโปรตีน ที่มีโคเลสเตอรอล ประกอบอยู่ถึง 60% ไลโปโปรตีนชนิดนี้จึงมีหน้าที่นำเอาโคเลสเตอรอล ไปยังเซลล์ที่ต้องการใช้โคเลสเตอรอล แต่หากมีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูงจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และหากมีโรคเบาหวานหรือมีโรคหัวใจร่วมด้วย ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้น
- วีแอลดีแอล : เป็นไลโปโปรตีนที่สร้างจากตับประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์ 45 ถึง 60% จึงมีหน้าที่นำไตรกลีเซอไรด์ไปเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานโดยเอมชัยม์ LPL จะสลาย ไตรกลีเซอไรด์ ใน VLDL ให้เป็นกรดไขมันอิสระที่พร้อมจะถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานของร่างกายภาวะ VLDL ในเลือดสูงก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน
- เอชดีแอล : เป็นไขมันที่ดีต่อร่างกายมีหน้าที่นำโคเลสตลอที่สะสมตามผนังหลอดเลือดหรือที่เนื้อเยื่ออื่นๆไปทำลายที่ตับดังนั้นถ้าระดับ HDYในเลือดสูงจะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง การออกกำลังกายทำให้ค่า HDL ในเลือดเพิ่มมากขึ้นได้
จะเห็นได้ว่าร่างกายมีทั้งกระบวนการสร้าง และย่อยสลายไขมัน ตลอดจนกระบวนการนำไขมันที่สะสมในบริเวณที่ไม่สมควรกลับเข้าสู่ตับ แต่ภาวะไขมันในเลือดสูงก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ปัจจุบันภาวะไขมันในหลอดเลือดสูงจัดเป็นหนึ่งภาวะของกลุ่มอาหารอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome ซึ่งประกอบด้วย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูง ฉะนั้นคนอ้วน (สตรีที่มีเส้นรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตรและผู้ชายที่มีเส้นรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร) ก็น่าจะมีโอกาสเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้มากกว่า ทั้งนี้เพราะไขมันในช่องท้องจะทำให้เกิดกลไกการเผาผลาญน้ำตาลที่ผิดปกติมากกว่าไขมันที่กระจายอยู่บริเวณอื่นในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น และเมื่อเป็นโรคเบาหวานก็จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันในเลือดสูงด้วย
ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง : เกิดจากการสะสมของน้ำตาลที่แปรสภาพเป็นไขมัน แล้วไปเกาะอยู่ตามส่วนต่างๆในร่างกาย หรือที่เห็นเป็นชั้นหนาๆ ของไขมันบริเวณหน้าท้องนั่นเอง ไขมันชั้นนี้ไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงมากนัก เพราะเป็นไขมันที่สามารถกำจัดได้ง่ายกว่าไขมันในส่วนอื่น
ไขมันในช่องท้อง : ก็เป็นไขมันใต้ชั้นผิวหนังเช่นกัน เกิดจากการสะสมตัวของสารอาหารประเภทไขมันในอาหารที่ร่างกายเผาผลาญเป็นพลังงานไม่หมด ทำให้ไปเกาะอยู่ตามบริเวณระหว่างกล้ามเนื้อท้องกับอวัยวะภายในช่องท้องในลักษณะแทรกตัวอยู่ตามเนื้อเยื่อของเซลล์ต่างๆ ฉะนั้นเมื่อมองจากภายนอกแล้วเห็นเป็นหน้าท้องยื่นออกมา แต่ถ้าหากลองอัลตร้าซาวด์ดูจะพบว่าอวัยวะภายในถูกห่อหุ้มไว้ด้วยถุงไขมันสีเหลือง ไขมันในช่องท้องเป็นไขมันที่อันตรายมากเมื่อเทียบกับไขมันบริเวณอื่นของร่างกาย เพราะไขมันชนิดนี้จะสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระ สามารถละลายเข้าสู่กระแสเลือดไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ ดังเช่น การไปสะสมที่ตับจนเกิดภาวะไขมันพอกตับ เป็นต้น
จากชนิดต่างๆของไขมันจะเห็นได้ว่า การที่จะบอกว่าคนๆหนึ่งผอมหรืออ้วน ประเมินจากการสะสมของไขมันใต้ชั้นผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง แต่การจะบอกว่าคนๆหนึ่งมีไขมันในเลือดสูงหรือไม่นั้น ไม่สามารถประเมินด้วยตาเปล่า ต้องรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะทราบว่ามีไขมันในเลือดสูงหรือไม่
จากข้อมูลทางการวิจัยเรื่องไขมันในเส้นเลือด หลายๆ ท่านคงได้ตระหนักรู้ถึงภัยเงียบที่นำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งต่อยอดเป็นภาวะเบาหวาน อ้วน และไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งจะมีภาวะเสี่ยงต่อ อัมพาต อัมพฤกษ์ หรือภาวะอันตรายต่างๆ ซึ่ง การป้องกันมิให้เกิดขึ้นย่อมดีกว่าการรักษา เพราะการรักษาย่อมหมายความว่า สายเกินแล้ว ดังสุภาษิตไทยที่ว่า วัวหายแล้วล้อมคอก
และการที่หลอดเลือดของเรามีการสะสมของไขมันมากๆ ทำให้เลือดไม่สามารถวิ่งขึ้นไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ และเลือดยังข้นดังภาพประกอบ เนื่องจากมีปริมาณไขมันมากกว่าเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งจะนำมาซึ่งอาการปวดศีรษะบ่อยๆ หรือบางครั้งอาจมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นลม หน้ามืด หากทำกิจกรรมหนักๆ ซึ่งภาวะไขมันในเส้นเลือดยังสามารถสร้างภาวะเสี่ยงของโรคหัวใจได้อีกด้วย
ดังนั้นทางที่ดีเราจึงควรระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เรามีการสะสมของไขมันในหลอดเลือด เช่น การลดอาหารประเภท แป้ง หวาน มัน หรือ เค็ม และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
หมายเหตุ
-ไลโพโปรตีน (Lipoprotein) เป็นไขมันธรรมดาที่มีโปรตีนหรือกรดอะมิโนรวมอยู่ด้วย พบเป็นส่วนประกอบของเยื้อหุ้มเซลล์และช่วยขนส่งลิพิดในเส้นเลือด
-คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นทั้งสารสเตอรอยด์ ลิพิด และแอลกอฮอล์ พบในเยื่อหุ้มเซลล์ของทุกเนื้อเยื้อในร่างกายและถูกขนส่งในกระแสเลือดของสัตว์ คอเลสเตอรอลส่วนใหญ่ไม่ได้มากับอาหาร แต่ถูกสังเคราะห์ขึ้นภายในร่างกาย จะสะสมอยู่มากในเนื้อเยื่อของอวัยวะที่สร้างขึ้นมาเช่น ตับ ไขสันหลัง สมองและผนังหลอดเลือดแดง
- ฟอสโฟลิพิด (phospholipid) ลิพิด ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของ กีเซอรอล 1 โมเลกุล ของกรดไขมัน 2 โมเลกุล และกรดฟอสฟอริก 1 โมเลกุล ในโมเลกุลมีทั้งส่วนที่ชอบน้ำ และไม่ชอบน้ำ สามารถใช้เป็น อิมัลซิไฟเออร์ ช่วยทำให้อิมัลชั่น คงตัว ในธรรมชาติพบเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ เช่น เลซิติน
-กรดไขมัน (fatty acid) เป็นกรดคาร์บอกซิลิก ซึ่งมีหางเป็นโซ่แบบ อะลิฟาติก ทั้ง ยาว ไขมันอิ่มตัว และกรดไขมันไม่อิ่มตัว กรดไขมันจะมีคาร์บอนอย่างน้อย 8 อะตอม และเป็นส่วนใหญ่ เป็นจำนวนเลขคู่ เพราะ กระบวนการ ชีวะสังเคราะห์ ของกรดไขมันจะเป็นการเพิ่มโมเลกุลของ อาซีเตด ซึ่งมีคาร์บอนอยู่ 2 อะตอม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น