วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ตอนที่ 2

โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ตอนที่ 2
แพทย์วินิจฉัยโรคข้อรูมาตอยด์ได้อย่างไร?
-โดยทั่วไป เมื่อเริ่มเป็นโรคข้อรูมาตอยด์อาการมักไม่ค่อยชัดเจน ให้การวินิจฉัยโรคได้ยาก เวลาโดยเฉลี่ยนับตั้งแต่เริ่มมีอาการของโรคจนกระทั่งวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคข้อรูมาตอยด์อยู่ที่ประมาณ 9 เดือน การวินิจฉัยจะอาศัยอาการและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโรคนี้จากสหรัฐอเมริกา(American College of Rheumatology) ได้วางกฎเกณฑ์สำหรับการวินิจฉัยโรคไว้ดังนี้ โดยให้ถือว่า “ผู้ป่วยที่มีอาการอย่างน้อย 4 ใน 7 ข้อเหล่านี้ เป็นโรคข้อรูมาตอยด์”

1.มีอาการข้อแข็งในตอนเช้า ขยับไม่ได้ตามปกติ ซึ่งต้องมีอาการนานมากกว่า 1 ชั่ว โมงก่อนที่อาการจะหายไป
2.มีอาการปวดข้อมากกว่า 3 ข้อขึ้นไปโดยมีอาการบวมของข้อร่วมด้วย
3.ข้อที่อักเสบนั้นจะต้องมีข้อของมือรวมอยู่ด้วย โดยอาจจะเป็น ข้อมือ ข้อฝ่ามือ หรือข้อนิ้วมือก็ได้
4.ข้อที่อักเสบเหล่านั้นจะต้องเป็นทั้งข้างซ้ายและข้างขวาเหมือนกันและเป็นพร้อมๆ กัน
5.ตรวจพบมีปุ่มเนื้อ Rheumatoid nodules
6.การตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor ในเลือด การตรวจพบสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor เพียงอย่างเดียว ไม่ได้จำเพาะกับโรคนี้ เพราะสามารถตรวจพบได้ในคนทั่วไปประมาณ 5% และยิ่งมีอายุมาก โอกาสที่จะตรวจพบอาจมีถึง 20% จึงต้องอาศัยเกณฑ์ข้ออื่นร่วมด้วย
7.การตรวจเอ๊กซเรย์กระดูก พบความผิดปกติของกระดูกรอบข้อ เช่น กระดูกรอบข้อบางตัวลง
-เนื่องจากการอาศัยการวินิจฉัยตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยโรคข้อรูมาตอยด์ และการรีบให้ยารักษาตั้งแต่เริ่มเป็น จะช่วยลดการดำเนินของโรคไม่ให้รุนแรงและไม่ให้เกิดความพิการตามมาได้ ทางกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสหรัฐอเมริกาและจากยุ โรป American College of Rheumatology และ European League Against Rheumatism จึงได้ตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นในปี 2010 แต่เนื่องจากยังเป็นของใหม่และมีรายละเอียดมากมายเฉพาะทางของโรค จึงไม่ขอกล่าวถึง แต่ทั้งนี้เมื่อพบแพทย์ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านโรคนี้ แพทย์จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจตามแนวทางเหล่านี้ให้ผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้เอง

รักษาโรคข้อรูมาตอยด์อย่างไร?
-เป้าหมายของการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์คือ
1.ลดอาการปวดบวมของข้อ
2.ลดภาวะการอักเสบของข้อ
3.ป้องกันไม่ให้ข้อเสียหายจนใช้การไม่ได้
4.การทำให้ข้อที่ใช้งานไม่ได้กลับมาใช้งานได้ และ
5.รักษาอาการที่เกิดกับอวัยวะอื่นๆ

-ยาที่ใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์จะใช้ยาหลายตัวร่วมกัน ไม่มียาตัวไหนที่จะหยุดยั้งการดำเนินของโรคและทำให้หายได้ ยาที่ใช้รักษาจะเป็นเพียงเพื่อลดและป้องกันการปวดบวมของข้อ ลดการดำเนินของโรคให้ช้าลง และไม่ให้รุนแรงจนข้อเสียหายพิการ ยาที่ใช้มีอยู่ 5 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มยาแก้ปวดที่เรียกว่า เอ็นเสด (NSAIDs, nonsteroidal anti-inflammatory drugs) ซึ่งมียาอยู่หลายตัวให้เลือกใช้ ยาจะทำหน้าที่ลดอาการปวดบวมที่เกิดจากการอักเสบเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยลดการดำเนินของโรค
2.ยากลุ่มสเตียรอยด์ นอกจากช่วยลดอาการที่เกิดจากการอักเสบแล้ว ยังอาจช่วยลดการดำเนินของโรคให้ไม่รุนแรงและให้โรครุนแรงช้าลงได้ โดยใช้ยาในปริมาณต่ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่มีมากมายจากยาตัวนี้ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร การติดเชื้อ และโรคกระดูกพรุน
3.ยากลุ่ม DMARDs (Disease-modifying antirheumatic drugs) เป็นยากลุ่มที่จะช่วยควบคุมไม่ให้เกิดอาการจากการอักเสบ ลดความรุนแรงและการดำเนินของโรค ยาในกลุ่มนี้มีอยู่หลายตัวเช่น ยาเคมีบำบัดบางชนิด เช่น methotrexate และยารักษาโรคมาลาเรีย (antimalaria drugs)
4.ยาต้านการทำงานของสารเคมีและสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ชื่อ TNF-alpha และ IL-1 ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบของข้อ ยากลุ่มนี้ช่วยควบคุมไม่ให้เกิดอาการจากการอักเสบได้และอาจช่วยลดการดำเนินของโรคได้ แต่มีผลข้างเคียงที่น่ากลัวคือ อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อที่รุนแรงเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
5.กลุ่มยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เช่น ยาเคมีบำบัดรักษามะเร็งชนิด Cyclophosphamide ยา Cyclosporine หรือยา Azathiopine เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีประ สิทธิภาพดีเหมือนกับยากลุ่ม DMARDs แต่มีผลข้างเคียงที่มากกว่า จึงจะพิจารณาใช้เมื่อใช้ยาในกลุ่ม DMARDs ไม่ได้ผล
-อนึ่ง นอกจากการใช้ยาคือ การผ่าตัด ซึ่งจะพิจารณาทำในผู้ป่วยที่มีข้อผิดรูปร่าง พิการใช้งานไม่ได้ ให้กลับมาใช้งานได้ ส่วนใหญ่ผ่าตัดรักษาได้แต่ในข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ ส่วนข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า การผ่าตัดให้กลับมาใช้งานได้นั้นทำได้ยาก


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น