-โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และโรคกระดูกบาง (Osteopenia) คือ โรคเกิดจากมีมวลกระดูกลดต่ำลงจนเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุของกระดูกหักได้สูง เป็นโรคพบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง เป็นโรคของผู้ใหญ่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้หญิงพบเกิดได้บ่อยกว่าผู้ชาย ปัจจุบันจัดเป็นอีกโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขรวมทั้งในประเทศไทยด้วย
โรคกระดูกบางหมายความว่าอย่างไร?
-โรคกระดูกบางหมายถึง โรคที่มวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามาตรฐานแต่ยังไม่ต่ำถึงค่าที่เป็นโรคกระดูกพรุน ดังนั้นค่ามวลกระดูกของโรคกระดูกบางจึงอยู่ในช่วง -1 ถึงน้อยกว่า -2.5 เอสดี
ซึ่งโรคกระดูกบางเมื่อปล่อยไว้โดยไม่รักษา จะมีการเสียมวลกระดูกเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นโรคกระดุกพรุน แต่ในบางคนเป็นโรคกระดูกพรุนได้โดยไม่ผ่านการเป็นโรคกระดูกบางก่อน
ดังนั้น เรื่องต่างๆของโรคกระดูกบางเช่น สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการ และอื่นๆ จึงเช่นเดียว กับโรคกระดูกพรุน ซึ่งในบทนี้ต่อไปจะใช้คำว่าโรคกระดูกพรุนซึ่งหมายรวมถึงกระดูกบางด้วย
โรคกระดูกพรุนเกิดได้อย่างไร?
-กลไกการเกิดกระดูกพรุนที่แน่นอนยังไม่ทราบ แต่ในเบื้องต้นพบว่าเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) และเซลล์ดูดซึมทำลายกระดูก (Osteoclast) ซึ่งการมีกระดูกที่แข็งแรงต้องมีสมดุลระหว่างเซลล์ทั้งสองชนิดนี้เสมอ ซึ่งการเสียสมดุลเกิดได้จากหลายสาเหตุคือ
-อายุ: อายุที่มากขึ้น เซลล์ต่างๆจึงเสื่อมลงรวมทั้งเซลล์สร้างกระดูก การสร้างกระดูกจึงลดลง แต่เซลล์ทำลายกระดูกยังทำงานได้ตามปกติหรืออาจทำงานมากขึ้น
-ภาวะขาดฮอร์โมนเพศ: ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก ดังนั้น โรคกระดูกพรุนจึงพบได้บ่อยในผู้หญิงและโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนถาวร
-ภาวะขาดอาหารสำหรับการสร้างกระดูก: อาหารสำคัญของการสร้างกระดูกคือ โปรตีน แคลเซียม และวิตามิน ดี ซึ่งผู้สูงอายุมักขาดอาหารทั้งสามชนิดนี้ การขาดอาหารจะลดการสร้างมวลกระดูกและกระตุ้นให้เซลล์ทำลายกระดูกทำงานสูงขึ้น
-ขาดการออกำลังกาย: การเคลื่อนไหวออกกำลังกายจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก ตรงกันข้าม เมื่อขาดการออกกำลังกาย เซลล์ทำลายกระดูกจะทำงานเพิ่มขึ้น
-พันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
-โรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ: เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) หรือโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง
ขอบคุณ : http://haamor.com/th/กระดูกพรุน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น