-อาการของโรคข้อรูมาตอยด์ที่พบบ่อยคือ ผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคครั้งแรกประมาณ 2 ใน 3 จะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมักจะวินิจฉัยได้หลังจากมีอาการหลายเดือนแล้ว โดยเริ่มต้นจะมีอา การอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร และตามมาด้วยอาการที่เกิดจากข้ออักเสบที่เป็นลักษณะ ของโรคข้อรูมาตอยด์ มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะเริ่มต้นด้วยอาการของข้ออักเสบเลย นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตและม้ามโตร่วมด้วย
อาการของข้ออักเสบคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมตามข้อโดยพบที่ข้อขนาดเล็กๆเช่น ข้อนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อนิ้วเท้า และฝ่าเท้า มากที่สุด ส่วนข้ออื่นๆที่พบได้เช่น ข้อของข้อมือ ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อเท้า ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ แต่จะไม่พบที่ข้อปลายนิ้วมือและที่ข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว ดังนั้นถ้ามีอาการปวดเอวเรื้อรังไม่ควรนึกถึงโรคข้อรูมาตอยด์
ลักษณะอาการปวดตามข้อที่จำเพาะต่อโรคนี้คือ จะมีอาการที่ตำแหน่งข้อเหมือนกันทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ความปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อใช้งานข้อนั้นๆ และเมื่อพักการใช้ข้อนานๆ เช่น หลังตื่นนอนจะมีอาการข้อยึดแข็ง ขยับไม่ได้เป็นเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง
การที่ข้อบวมและปวดเกิดจากมีน้ำสะสมอยู่ในข้อ เยื่อบุข้อมีการหนาตัว มีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเข้ามาอยู่มากมาย มีการหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบจากเซลล์เหล่านั้น และสารเคมีบางตัวก็ทำให้เกิดความเจ็บปวด นอกจากนี้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่อยู่รอบข้อก็มีการอักเสบร่วมด้วย เมื่อการอักเสบดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลาหลายสิบปี กระดูกอ่อนที่เป็นส่วนประกอบของข้อจะถูกทำลาย กระดูกที่อยู่รอบข้อเหล่านั้นจะบางลง และในที่สุดจะเกิด พังผืดขึ้นมาแทนที่ ดึงรั้งให้ข้อเสียรูปร่าง ใช้งานไม่ได้ เนื้อเยื่อรอบๆข้อที่ทำหน้าที่พยุงข้อไว้ก็จะเสียไป เส้นเอ็นที่เกาะอยู่ที่ข้อจะถูกทำลายและส่งผลทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่ได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิมเช่น อาบน้ำ แต่งตัว ทำอาหาร งานบ้านต่างๆ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงสำหรับโรคนี้
ลักษณะการผิดรูปร่าง ความพิการของข้อต่างๆ และผลกระทบที่พบ คือ
-ถ้าเป็นที่ข้อนิ้วมือและข้อมือ จะเกิดการผิดรูปได้ 3 แบบ ได้แก่
1.แบบรูปร่างคล้ายตัวหนังสือ Z (Z deformity) คือข้อมือจะงอออกด้านข้างในขณะที่ข้อนิ้วมือทั้งหมดงอเข้าด้านใน และมักพบข้อนิ้วมือส่วนต้นมีการเลื่อนหลุด
2.แบบคอห่าน (Swan neck deformity) ข้อนิ้วมือส่วนต้นจะเหยียดออกไปด้านหลังของมือ ทำให้ข้อนิ้วมือส่วนปลายงอเข้าหาฝ่ามือ
3.แบบ Boutonniere deformity คือข้อนิ้วมือส่วนต้นจะงอเข้าหาฝ่ามือ ทำให้ข้อนิ้วมือส่วนปลายเหยียดออกไปด้านหลัง
-สำหรับข้อมือ นอกจากจะทำให้ขยับข้อไม่ได้และผิดรูปร่างแล้ว พังผืดรอบๆข้ออาจกดทับเส้นประสาทส่วนปลายได้ ทำให้มีอาการปวดชาหรือเสียวที่มือ และกล้ามเนื้อมือฝ่อลีบ
-ถ้าเป็นที่ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า ก็ทำให้ผิดรูปและอาจพิการจนเดินไม่ได้ แต่ไม่ได้มีลักษณะที่เฉพาะเหมือนกับที่มือ
-ถ้าเป็นที่ข้อศอก ข้อศอกจะหดงอ ยืดไม่ออก
-ถ้าเป็นที่ข้อเข่า ก็จะทำให้เข่าหดงอ อาจเดินไม่ได้ และมีถุงน้ำเกิดด้านข้อพับของเข่าได้
-ถ้าเป็นที่ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ อาจทำให้ข้อมีการเลื่อนหลุด และกระดูกที่เลื่อนหลุดอาจไปกดเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้มีอาการปวดชาหรือเสียวแขน มีแขนอ่อนแรงได้ หรือที่อันตรายคือไปกดทับไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตได้
อนึ่ง นอกจากอาการจะเกิดกับข้อต่างๆแล้ว ยังสามารถตรวจพบพยาธิสภาพ (ความผิดปกติ) ที่อวัยวะอื่นๆได้ด้วย แต่มักไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาสำคัญ โดยจะพบเฉพาะกับผู้ป่วยที่ตรวจเลือดพบสารภูมิต้านทาน (Antibody) ของโรคนี้ที่เรียกว่า Rheumatoid factor เท่านั้น พยาธิสภาพเหล่านั้นได้แก่
1.การเกิดปุ่มเนื้อที่เรียกว่า Rheumatoid nodules พบได้ประมาณ 20 - 30% ของผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ ซึ่งพยาธิสภาพคือ เป็นปุ่มเนื้อที่เกิดจากการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวชนิดเก็บกินเซลล์ต่างๆที่ตายแล้ว (Macrophage) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อชนิดใดและอวัยวะใดก็ได้ เช่น เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มสมอง แต่ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ เนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังที่อยู่บริเวณปลายแขน ศีรษะด้านหลัง และเส้นเอ็นที่ปลายขา
2.กล้ามเนื้อเกิดการฝ่อลีบ ซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อที่อยู่เหนือต่อข้อที่มีการอักเสบ
3.พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นที่ปอดมีได้หลายอย่างได้แก่ การเกิดพังผืดในปอด เนื้อเยื่อปอดอักเสบ มีปุ่มเนื้อ Rheumatoid nodule ในเนื้อปอด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด โดยส่วนใหญ่มักไม่ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง
4.การเกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจศพ ซึ่งพบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วยโรคนี้
5.การเกิดหลอดเลือดอักเสบทั่วร่างกาย จะพบในผู้ป่วยที่มีระดับสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor ในเลือดขึ้นสูงมากๆ โดยตรวจร่างกายพบ จุดสีน้ำตาลที่ฐานเล็บ ปลายนิ้ว มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า และอาจมีแผลเรื้อรังที่ขาร่วมด้วยจากเนื้อเยื่อขาขาดเลือดหล่อเลี้ยง
6.การเกิดกระจกตาอักเสบ พบได้น้อยคือน้อยกว่า 1% ของผู้ป่วยโรคนี้ บางครั้งอาจรุนแรงจนทำให้เปลือกลูกตาบางและทะลุได้ในที่สุด
7.พยาธิสภาพของระบบประสาทเกิดได้จากหลายสาเหตุได้แก่ การที่ข้ออักเสบเรื้อรัง มีพังผืดเกิดขึ้น ทำให้กดทับเส้นประสาทส่วนปลาย หรือเกิดจากกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง และอาจเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทส่วนปลายมีการอักเสบ แต่สำหรับสมองจะไม่เกิดพยาธิสภาพใดๆ
8.การเกิดโรคกระดูกพรุน โดยตัวของโรคข้อรูมาตอยด์เองทำให้มวลกระดูกลดลงปานกลาง แต่การที่ต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (steroid) รักษาจะยิ่งกระตุ้นให้สูญเสียมวลกระดูกมากขึ้น
9.การเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Felty’s syndrome (Felty เป็นชื่อแพทย์ชาวอเมริกัน ที่รายงานกลุ่มอาการนี้เป็นคนแรก) คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ร่วมกับมีม้ามโตและเม็ดเลือดขาวต่ำ มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์มานาน และเนื่องจากมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ผู้ป่วยจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย และอาจรุนแรงจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น