
เช่น การควบคุมความดันกระแสเลือด การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยรักษาสมดุลของของเหลวที่อยู่ภายในร่างกาย โดยมีหน้าที่ควบคู่กับโพแทสเซียมและคลอไรด์
ดังนั้นหากขาดโซเดียมแล้วร่างกายจะไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ยกตัวอย่างเช่น เวลาเสียเหงื่อมากๆ จากการออกกำลังกายอย่างหนัก ร่างกายจะสูญเสียโซเดียมไปกับเหงื่อด้วย จนเป็นเหตุให้เกิดตะคริว อ่อนเพลีย เมื่อยล้า และกระหายน้ำ แต่อาการลักษณะนี้คงเกิดขึ้นได้ยากในชีวิตประจำวัน เนื่องจากในอาหารที่รับประทานมีโซเดียมอยู่อย่างเพียงพอแล้ว และแหล่งใหญ่ของโซเดียมในธรรมชาติก็คือเกลือแกงนั่นเอง ซึ่งนอกจากมีโซเดียมเป็นองค์ประกอบสำคัญแล้วยังมีธาตุคลอไรด์รวมกันเป็นโซเดียมคลอไรด์ โดยมีสัดส่วนของโซเดียมคิดเป็นร้อยละ 40 ตามน้ำหนักโดยประมาณ นอกจากนี้อาหารชนิดอื่นๆ เช่น นม พืชกินหัว ผักคึ่นช่าย และน้ำดื่ม ก็เป็นแหล่งของโซเดียมเช่นเดียวกัน แต่จะมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป
เนื่องจากโซเดียมมีความจำเป็นต่อร่างกายและแหล่งใหญ่ของโซเดียมในธรรมชาติก็ คือเกลือแกง วิวัฒนาการจึงพัฒนาให้ร่างกายสามารถรับสัมผัสสารอาหารชนิดนี้ได้เป็นพิเศษ นั่นคือการรับรู้และชื่นชอบในรสเค็มของเกลือแกงนั่นเอง เกลือแกงจึงเป็นอาหารตามธรรมชาติที่ใช้ใส่ในอาหารนานาชนิดมาตั้งแต่ยุคที่มนุษย์เริ่มรู้จักการปรุงอาหาร โดยการผสมผสานกับรสชาติพื้นฐานอื่นๆ ไม่ว่าเป็น หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม และอูมามิ ที่ทำให้อาหารอร่อย น่ารับประทานยิ่งขึ้น
นอกจากนี้เกลือแกงและเกลือโซเดียมของวัตถุเจือปนอาหารชนิดต่างๆ เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต (ผงชูรส) โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) โซเดียมเบนโซเอต โซเดียมไนเตรต โซเดียมซิเตรต มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อปรุง แต่งรสชาติ การถนอมอาหาร ปรับปรุงเนื้อสัมผัส ความคงตัว สีสัน ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกความปลอดภัยในอาหารบางชนิด
ยิ่งในปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกตื่นตัวเรื่องการรักษาสุขภาพกันมากขึ้น และจากการที่มีการเชื่อมโยงการได้รับโซเดียมจากอาหารมากเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคนิ่วในไต และโรคกระดูกพรุน ดังนั้นการลดการรับประทานโซเดียม โดยการลดการใช้เกลือแกงในการปรุงอาหาร และสังเกตปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการก่อนการเลือกซื้อ กลายเป็นสิ่งที่องค์การทางการแพทย์ในประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญและประชาสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง
โดยจากการวิจัยทางการแพทย์และโภชนาการเรื่องปริมาณที่เหมาะสมของโซเดียมที่ควรได้รับจากอาหารในแต่ละวัน ยังผลให้องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดปริมาณโซเดียมที่ แนะนำให้บริโภคต่อวัน (Recommended Daily Intakes : RDI) อยู่ที่น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการในบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป และเป็นปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านสุขภาพใดๆ
สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัมเช่นเดียวกัน แต่หากจะเปรียบเทียบภาวะความเสี่ยงของการได้รับโซเดียมเกินระหว่างประเทศไทย กับประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่าคนไทยเราบริโภคโซเดียมเฉลี่ยอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมคือปริมาณ 2,320 มิลลิกรัมต่อวัน ในขณะที่ชาวอเมริกันรับประทานโซเดียมจากอาหารเฉลี่ย 3,200 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน ดังนั้นสำหรับคนไทยที่ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการตามปกติและรสชาติที่ไม่เค็มจนเกินไป ก็เพียงพอที่จะควบคุมปริมาณโซเดียมจากอาหารในระดับที่เหมาะสมได้แล้ว
ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรศึกษาวิธีการลดหรือควบคุมปริมาณโซเดียมที่ได้รับในแต่ละวันให้ใกล้เคียง กับปริมาณที่แนะนำ วิธีที่ชัดเจนได้แก่การลดการรับประทานเกลือแกงลง เนื่องจากโซเดียมที่ได้จากอาหารเกือบทั้งหมดจะมาจากเกลือแกงซึ่งคิดเป็น ประมาณร้อยละ 70-80 ส่วนโซเดียมจากแหล่งอาหารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำดื่ม หรือวัตถุเจือปนอาหาร คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงกันได้ยาก และถึงแม้จะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ ปริมาณโซเดียมที่ลดลงไปนั้น ก็เป็นเพียงปริมาณส่วนน้อยซึ่งไม่มีนัยสำคัญหากเทียบกับปริมาณโซเดียมที่เราได้จากเกลือแกง
แต่ประเด็นเรื่องโซเดียมที่มีอยู่ในวัตถุเจือปนอาหาร เช่น ผงชูรส ในความเป็นจริงนั้นผงชูรสมีโซเดียมอยู่เพียงร้อยละ 12 ในขณะที่เกลือแกงมีโซเดียมอยู่ถึงร้อยละ 40 ซึ่งต่างกันอยู่ประมาณ 3.3 เท่า และในอาหารทั่วไปจะใช้ผงชูรสน้อยกว่าเกลือแกงประมาณ 2.5-10 เท่า หมายความว่าโซเดียมที่ได้จากผงชูรสน้อยกว่าที่ได้จากเกลือแกง 8-30 เท่า ดังนั้นการใช้ผงชูรสรวมทั้งเครื่องปรุงรสอูมามิชนิดอื่นๆ จึงสามารถช่วยลดปริมาณโซเดียมในอาหารลงได้ทั้งที่ยังมีรสชาติดีอยู่
อย่างไรก็ตาม โซเดียมเป็นสารอาหารที่มีความคัญต่อร่างกายที่จำเป็นจะต้องใส่ใจในการรับประทานอาหารให้ร่างกายได้รับไม่มากหรือน้อยจนเกินไป โดยจำเป็นต้องคำนึงถึงวัย สภาพร่างกาย ลักษณะการใช้ชีวิต ความชอบในการรับประทานอาหาร การใช้สิ่งทดแทนเกลือและการสังเกตปริมาณโซเดียมให้อยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ขอบคุณ : http://www.vcharkarn.com/varticle/42864
อาหารเสริม herbraga ช่วยเสริมสร้างธาตุโซเดียม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น