วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สังกะสี (zinc) แร่ธาตุนี้มีประโยชน์อย่างไร ผลกระทบเมื่อทานมาก-น้อยเกินไป


สังกะสี หรือ Zinc เป็นธาตุอาหารชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์หรือพืช ด้วยบทบาทที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจในการทำงานร่วมกับเอนไซม์ต่างๆ
มากกว่า 300 ชนิดในร่างกายของเรา การรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุชนิดนี้อย่างเพียงพอ จะช่วยรักษาร่างกายให้ทำงานได้อย่างสมดุล

การรับประทาน สังกะสี ที่มากเกินไปก็อาจก่อเกิดเป็นโทษ ส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยได้ เพราะฉะนั้น การเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ร่างกายได้รับ สังกะสี ในการนำไปใช้ได้เพียงพอและปลอดภัยมากที่สุด


หน้าที่ของธาตุสังกะสีกับร่างกาย

-หน้าที่สำคัญของธาตุ สังกะสี สำหรับร่างกาย คือการเข้าไปควบคุมกระบวนการทำงานต่างๆ ในระดับเซลล์ ทำให้อวัยวะดำเนินการทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และด้วยส่วนประกอบของ สังกะสี ที่มีอยู่ภายในเอนไซม์อย่างน้อยราว 60-70 ชนิด โดยมีหน้าที่หลักสำคัญคือ เป็นเสมือนรถบรรทุกคอยขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์จากเซลล์และเนื้อเยื่อไปยังปอด มีการทำหน้าที่เป็นเอนไซม์ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนกรดไฟรูวิกเป็นกรดแลคติก ซึ่งจะอยู่ในวัฎจักรไกลโคลิซิส นอกจากนี้ ยังเป็นเอนไซม์ช่วยย่อยโปรตีนที่ลำไส้เล็ก เป็นโคแฟกตอร์ช่วยสังเคราะห์ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ
มีส่วนช่วยบำรุงดูแลร่างกายส่วนที่สึกหรอ โดยการเข้าไปซ่อมแซม ทำหน้าที่ช่วยควบคุมการทำงานของเอนไซม์
ปริมาณที่เพียงพอที่เราได้รับแต่ละวัน จะช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นมาจะช่วยเยียวยาให้แผลหายไวขึ้น
สำหรับเด็กจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการรับรู้รสชาติและการได้กลิ่นให้มีประสิทธิภาพ
เมื่อธาตุชนิดนี้ถูกนำเข้าสู่ร่างกาย ผ่านกระบวนการย่อยอาหาร จะถูกดูดซึมอยู่ที่ลำไส้เล็กตอนต้น (Duodenum) และลำไส้เล็กตอนกลาง (Jejunum) แต่การดูดซึมของสารชนิดนี้มักจะถูกขัดขวางโดย ทองแดง แคลเซียม ไฟเทต แคดเมียม และใยอาหาร สังกะสี บางส่วนที่ไม่ถูกดูดซึม ก็จะถูกขับถ่ายออกพร้อมกับน้ำย่อยจากตับอ่อน ส่งผ่านลำไส้ใหญ่รวมตัวกับอุจจาระและปัสสาวะ ซึ่งจะมีปริมาณที่ถูกขับออกมาตามธรรมชาติราว 500 ไมโครกรัม


อาหารที่มีธาตุสังกะสีสูง
-อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ทุกประเภท ตับ นม เนย ปู กุ้ง ไข่
-หอยนางรมให้ สังกะสีจำนวนมาก ประมาณ 745 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม
-พวกพืชผัก เช่น ข้าวกล้อง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดพืช วุ้นเส้นไม่ฟอกขาว งา มันฝรั่ง ผักใบเขียวต่างๆ
-ผลไม้ เช่น มะม่วง สับปะรด แอปเปิ้ล

โทษของที่ร่างกายได้รับสังกะสี มากเกินไป
-คนที่ได้รับสังกะสีมากเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของระดับคลอเลสเตอรอล เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลืด
-คนที่ได้รับมากเกินกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน จะทำให้เกิดอาการที่รู้สึกได้คือ ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ เกร็งบริเวณกล้ามเนื้อท้อง และเกิดอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร
-คนที่ได้รับสังกะสีมากๆ สูงมากกว่า 1.5 เท่าของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางเพราะสังกะสีจะเข้าไปลดการดูดซึมทองแดงและธาตุเหล็ก

โทษของที่ร่างกายได้รับสังกะสี น้อยเกินไป
ส่วนในกรณีที่เกิดภาวะขาดสังกะสี ร่างกายจะแสดงออกมาด้วยอาการทางผิวหนัง ขนตามร่างกายร่วง ผิวหนังเป็นรอยเขียวฟกช้ำได้ง่าย เป็นแผลเรื้อรังไม่ยอมหายสักที มีการอักเสบระคายเคืองที่ผิวหนัง ผิวแห้งลอกไม่มีความชุ่มชื้น ผิวหยาบกร้าน โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อพับ ประสาทการรับรสเริ่มด้อยประสิทธิภาพ เมื่อเกิดแผลขึ้นมาจะหายช้า ส่วนในหญิงที่ให้นมบุตร การขาดธาตุสังกะสีจะส่งผลไปถึงการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของลูกน้อย

การรับประทาน สังกะสี ให้ได้สัดส่วนที่เพียงพอต่อร่างกายแบบไม่เกิดโทษ จะต้องอยู่ในปริมาณที่ขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละวัย
-ในเด็กอายุระหว่าง 1-10 ปี ควรได้รับวันละ 10 มิลลิกรัม
-ในเด็กวันรุ่นอายุ 11-22 ปี ควรได้รับ 15 มิลลิกรัม
-ผู้ใหญ่อายุ 23-51 ปี ควรได้รับวันละ 15 มิลลิกรัม
-ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับวันละ 20-25 มิลลิกรัม

การได้รับแร่ธาตุ สังกะสี ตามปริมาณด้านบนก็ถือว่าเพียงพอกับความต้องการแล้ว ถึงแม้ในประเทศไทย จะพบคนจำนวนน้อยมากที่ขาดธาตุสังกะสี แต่การเรียนรู้เพื่อให้ทราบโทษของการได้รับมากเกินไป ก็เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับร่างกายได้ทางหนึ่ง


ขอบคุณ : https://www.honestdocs.co/benefits-of-zinc-and-too-much-too-little-consumption


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น